ประวัติความเป็นมา
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่างที่มีผู้คนพื้นถิ่นหลากหลายชาติพันธ์อาศัยอยู่ร่วมกันที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์เขมร กลุ่มชาติพันธุ์กูย และกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ซึ่งต่างล้วนมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มแตกต่างกันออกไป วัฒนธรรมทั้ง ๓ กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวที่แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมประการหนึ่งได้แก่ วัฒนธรรมด้านการแต่งกายและการทอผ้า ซึ่งมีการรักษาสืบทอดต่อเนื่องกันมากยาวนานจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้อัตลักษณ์ของกลุ่มได้อย่างเด่นชัดในระดับหนึ่ง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์เขมรนิยมทอผ้าและนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายต่าง ๆ โดยเฉพาที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ได้แก่ ผ้าโฮล หรือ “ซัมป็วตโฮล” ซึ่งจัดเป็นผ้ามัดหมี่ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์กูยนิยมทอผ้าและนุ่งผ้าไหมควบ (ผ้าหางกระรอก) โดยเฉพาะหมอช้างนอกจากนั้นยังนิยมใช้ผ้าสไบลายขิดที่มีการถักทอเป็นลวดลายอย่างสวยงาม สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั้น นิยมใช้ผ้าทอที่ขึ้นด้วยเทคนิคการยก การจก หรือการขิด เป็นลวดลายรูปสัตว์ รูปดอกไม้ หรือลวดลายเลขาคณิตต่าง ๆ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นให้ได้ความสำคัญกับวัฒนธรรมผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสุรินทร์ และให้การสนับสนุนการศึกษาการวิจัยเกี่ยวกับผ้ามาตลอดทั้งในเรื่องกระบวนการการเลี้ยงไหม การย้อม การทอ ตลอดจนถึงการใช้ผ้าในประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งยังได้มีการเก็บสะสมผ้าพื้นเมืองโบราณเอาไว้เป็นจำนวนหนึ่ง เช่น ผ้าที่ใช้ในการห่อคัมภีร์ ผ้าโฮลเปาระฮ์ โฮลสไรย์ ผ้าอัมปรม ผ้าอันลูนซีม ผ้าสมอ ผ้าสาคู ผ้าระเบิก ผ้ากระนีว (ผ้าหากระรอก) เป็นต้น
ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้จัดทำโครงการศิลปวัฒธธรรมขึ้น โดยมีการดำเนินกิจกรรมด้านการทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมหลายกิจกรรม ในจำนวนนั้นรวมถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้า โดยการรวบรวมผ้าโบราณและผ้าที่ทอขึ้นในปัจจุบันที่มีฝีมือประณีตลวดลายสวยงามเก็บรักษาไว้ เพื่อจัดแสดงในอาคารหอวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูรวบรวมข้อมูลทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผ้าพื้นเมืองจังหวัดสุรินทร์ สำหรับให้เยาวชน ประชาชน นักศึกษา คณาจารย์ และผู้ที่สนใจทั่วไป ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าหาความรู้