รายละเอียด

กิจกรรมวัดพระศรีสรรเพชญ์

               สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ดำเนินการขอความอนุเคราะห์เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และขอความอนุเคราะห์วิทยากรให้ความรู้แก่บุคลากรเข้าร่วมโครงการฯ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ และได้รับการตอบรับจากผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมรวมทั้งอนุเคราะห์วิทยากรให้ความรู้การเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ ในวันพุธที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. 

              วิทยากรบรรยายให้ความรู้ นางขนิษฐา พานิชกุล ตำแหน่ง นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้บรรยายเกี่ยวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้น เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๑๙๙๑ โปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นเขตพุทธาวาส สำหรับประกอบพิธีที่สำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง เป็นที่เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล และเก็บอัฐิของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา มูลเหตุการณ์สร้างวัด คือ"สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง" ความสำคัญในอดีตของวัดพระศรีสรรเพชญ์เปรียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานคร และวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระมหากษัตริย์ ในการประกอบพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐปูน มีปูนปั้นเศียรหักและหายไปจำนวนมาก หากมองจากมุมสูงจะเห็นห้องที่มีรูปแบบท้องพระโรง แต่ยังคงเป็นจุดที่ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมอยู่เสมอ และเมื่อได้ลองจินตนาการดูก็จะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่ยังเป็นราชธานี บริเวณใจกลางวัดเป็นที่ตั้งพระสถูปเจดีย์ใหญ่ ๓ องค์เรียงกัน เป็นพระอารามหลวง มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา ตั้งเรียงรายเป็นสัญลักษณ์อย่างสวยงาม

           การเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของไทย “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เป็นเส้นทางมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญรูปแบบหนึ่ง ได้เชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ถ้าคนในชาติมีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติตนเอง ย่อมมีผลทำให้ชาติมีความมั่นคงเข้มแข็งอยู่ได้ เป็นการสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย และร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ สำนึกในความกล้าหาญของบรรพบุรุษ ที่ปกป้องแผ่นดินให้ลูกหลานไทยได้อยู่กันอย่างมีความสุขตราบจนทุกวันนี้ 

scroll up
scroll up